ประโยชน์จากฝักของราชพฤกษ์หรือคูน

ฝักคูนที่เห็นแก่หล่นอยู่ใต้ต้น ทราบไหมว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างโดยเกษตรกรหัวก้าวหน้าของพะเยา ได้ศึกษาและมีแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ลองติดตามดูนะครับ

ข้อมูลทางวิชาการราชพฤกษ์, คูน, ลมแล้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย ศรีลังกา พม่า และไทย นอกจากนี้ ดอกราชพฤกษ์ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติไทยอีกด้วย ชื่อของราชพฤกษ์นั้นมีการเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเรียกราชพฤกษ์ว่า คูน เนื่องจากจำง่ายกว่า (แต่มักจะเขียนผิดเป็น คูณ) ทางภาคเหนือเรียกว่า ลมแล้ง ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ

การปลูกและการดูแลรักษาการปลูกในช่วงแรกๆ ต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตได้ช้าในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปีแรก หลังจากนั้น จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลเรียบ มีรากแก้วยาวสีเหลือง และมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก เมื่อมีอายุ 4-5 ปี จึงออกดอกและเมล็ดและเจริญเติบโตต่อไป การดูแลรักษาแสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำน้อย ควรให้น้ำ 7-10 วัน ต่อครั้ง อายุประมาณ 4 ปี สามารถทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี

ต้นราชพฤกษ์เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ปุ๋ย นิยมใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในการบำรุงรักษา อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือ การเพาะเมล็ด สรรพคุณส่วนต่างๆ ของต้นราชพฤกษ์มีประโยชน์ดังนี้ ฝักแก่ เนื้อสีน้ำตาลดำและชื้นตลอดเวลา มีรสหวาน สามารถใช้เป็นยาระบายได้ โดยนำฝักมาต้มกับน้ำ และเติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือก่อนกินอาหาร นอกจากนั้น ฝักแก่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำฝักมาบดผสมน้ำแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน

สารละลายที่กรองได้สามารถฉีดพ่นกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ ฝักแก่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วยเตาเศรษฐกิจ มีขนาดที่พอเหมาะ ไม่ต้องผ่า เลื่อยหรือตัด เนื้อของฝักแก่ใช้แทนกากน้ำตาลในการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์และจุลินทรีย์ขยาย ฝักอ่อน สามารถใช้ขับเสมหะได้ ใบ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคได้ ดอก ช่วยแก้แผลเรื้อรัง ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

ความเชื่อต้นราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น

คุณประสาธน์ เปรื่องวิชาธร หรือ อาหย่ง เจ้าของสวนกล้วยห้วยเกี๋ยง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังว่า จากการสังเกตต้นราชพฤกษ์หรือคูน ทั่วไปเมื่อออกดอกแล้วจะติดผลซึ่งเราเรียกว่าฝักเป็นจำนวนมากเมื่อแก่จัดจะร่วงหล่นกองเต็มใต้ต้นทิ้งระยะสัก 2-3 เดือนฝักเหล่านี้กลับหายไปหมด อาหย่ง จึงเข้าไปศึกษาดูพบว่าฝักเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหนแต่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นดี

เมื่อศึกษาอย่างจริงจังพบว่าในฝักคูนจะมีน้ำเหนียวๆ เมื่อชิมดูจะมีรสหวาน จึงถึงบางอ้อว่าที่ฝักคูนย่อยสลายได้ดีเพราะมีน้ำตาลลักษณะคล้ายกากน้ำตาลหรือโมลาสนี้เอง หากนำมาทำปุ๋ยหมัก เมื่อนำไปหว่านบริเวณที่มีหอยเชอรี่ระบาดจะพบว่าสามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้เป็นอย่างดี

สำหรับคนที่มีปัญหาขับถ่ายลำบากหรือท้องผูกสามารถใช้ฝักคูนสัก 3 ข้อต้มน้ำเป็นน้ำชาจะช่วยระบายได้เป็นอย่างดี ในฝักของคูนมีสารซาโปนินเป็นสารต้านจุลินทรีย์ สารต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้เล็ก หรือช่วยการดูดซึมกรดน้ำดี แต่มีความเป็นพิษต่อแมลง หนอน หอยทาก และปลา หากเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะทำให้เกิดการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง ขณะปล่อยฮีโมโกลบินออกมา

บทบาทในพืชและสัตว์ซาโปนินอาจเป็นสารยับยั้งการกินในศัตรูพืช ซาโปนินในพืช เช่น ข้าวโอ๊ตและปวยเล้ง ช่วยเพิ่มการดูดซึมและการย่อยอาหารของสัตว์ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าซาโปนินเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็นและแมลงในระดับความเข้มข้นจำเพาะ

พฤกษศาสตร์พื้นบ้านมีการใช้สารซาโปนินในการจับสัตว์น้ำมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ชนเผ่ากอนด์ (Gond) ในอนุทวีปอินเดียที่ใช้สารซาโปนินในการเบื่อปลา และชนพื้นเมืองในแคลิฟอร์เนียที่ใช้หัวของพืชสกุล Chlorogalum หรือรากของพืชสกุล Yucca มาผสมกับน้ำจนเกิดเป็นฟองแล้วเทลงในแหล่งน้ำเพื่อเบื่อปลา ถึงแม้ในบางพื้นที่จะออกกฎหมายห้าม แต่ในปัจจุบันชนพื้นเมืองในกายอานายังคงใช้วิธีนี้อยู่

การใช้ประโยชน์ เนื่องจากซาโปนินมีคุณสมบัติการลดแรงตรึงผิวที่ไม่มีประจุ จึงนิยมใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ สารซักฟอกและสารก่อฟอง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและฟื้นฟูสภาพดิน ซาโปนินยังใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เป็นสารต้านเชื้อราและยีสต์ ในสหรัฐอเมริกาใช้ซาโปนินเป็นสารก่อฟองในเครื่องดื่มคาร์บอเนต (น้ำอัดลม)

ในญี่ปุ่นใช้ซาโปนินเป็นอิมัลซิไฟเออร์ในการเตรียมเครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผักดอง ประเทศในสหภาพยุโรปใช้สารสกัดซาโปนินเป็นสารก่อฟองในสารละลายที่มีน้ำและเป็นสารแต่งกลิ่นในเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์

ตอนนี้กำลังติดต่อกับประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อส่งออกไปทำเป็นสมุนไพร และเวชสำอางทางอาหย่งรับซื้อฝักคูนในราคา 3-4 บาท ต่อกิโลกรัม

หากใครจะเป็นตัวแทนรับซื้อทางอาหย่งจะมีค่าบริหารจัดการให้ หากในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอำเภอจุน หากมีปริมาณ 500 กิโลกรัมขึ้น หากนำมาส่งจะช่วยค่าขนส่งหรือจะให้ทางทีมงานของอาหย่งนำรถไปรับก็ได้ ติดต่อคุณประสาธน์ หรือ อาหย่ง ที่โทร. (063) 469-6598

เผยแพร่ครั้งแรก วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2563

 

ที่มา-technologychaoban