อาหารปลาลดต้นทุน เลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว

การเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าวนี้ได้รับการคิดค้นมาจาก คุณมงคล ทวีสิน เกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้ใช้ฟางข้าวเลี้ยงปลาโดยบังเอิญแต่กลับได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

คุณมงคล ปกติแล้วมักเลี้ยงปลาด้วยอาหารสำเร็จรูปแต่กลับให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากขาดทุนย่อยยับจึงต้องล้มเลิกการเลี้ยงปลาและนำฟางข้าวมาถมบ่อเพื่อที่จะกลบบ่อเลิกกิจการทั้งหมด แต่ผลปรากฏว่าฟางข้าวที่จมน้ำนั้นเป็นผลดีกับปลาที่เลี้ยงไว้เนื่องจากปลามากินฟางข้าวที่เปื่อยจนหมดและปลาก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีเทียบเท่ากับการเลี้ยงด้วยอาหารปลาสำเร็จรูปเลยทีเดียว

จากนั้นจึงได้ปล่อยลูกปลาสวาย ปลาสลิด ปลาทับทิม ปลาดุกอุ้ย ลงในบ่อเลี้ยงปลา เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี ก็ลองนำปลาที่เลี้ยงด้วยฟางมาขาย ผลปรากฏว่าได้ปลาขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการดังเช่นเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ปลาทับทิมตัวละ 3-4 ขีด ปลาสวายขนาดเกือบ 2 ก.ก. ปลาดุกอุ้ย 3-4 ตัวต่อ 1 ก.ก. ปลาสลิดก็มีขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน

ขั้นตอนการเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว

เริ่มจากต้องมีบ่อปลาเสียก่อน จะขุดใหม่หรือใช้บ่อเก่าก็ได้ โดยให้บ่อความลึกประมาณ 2-3 เมตร เป็นอย่างน้อย หรือขนาดของบ่อจะอยู่ที่ขนาดของพื้นที่ถ้าพื้นที่น้อยก็มีบ่อขนาด 2-3 งาน หรือ ขนาด 1 ไร่ จากนั้นปล่อยน้ำใส่ในบ่อจนเต็มแล้วหามูลโค-กระบือมาใส่ไว้เพื่อเพาะพันธุ์ลูกไร เพื่อเป็นอาหารแก่ลูกปลาที่เลี้ยงไว้อีกทางหนึ่ง โดยพื้นที่บ่อ 1 ไร่ จะปล่อยลูกปลาจำนวน 10,000 ตัว ลูกปลาจะหากินฟางข้าวและลูกไรเป็นอาหาร

การให้ฟางข้าวเลี้ยงปลา เกษตรกรจะต้องกองฟางข้าวไว้ที่ริมบ่อให้ส่วนหนึ่งให้จมน้ำและกองฟางข้าวไว้ใต้ลม เพราะเมื่อลมพัดฟางจะได้ไม่กระจายไปทั่วบ่อ เมื่อฟางข้าวในบ่อเริ่มยุบตัวลงก็ค่อยดันฟางข้าวแห้งที่ขอบบ่อลงไปเสริม ระหว่างนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารใดนอกจากฟางข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ให้ลองจับปลาขึ้นมาเช็คดูว่าขนาดและคุณภาพใช้ได้หรือไม่ และช่วงใดปลามีราคาแพงก็ให้เลือกจับในช่วงนั้น เพราะเนื่องจากไม่มีต้นทุนทางอาหารปลา จึงไม่ต้องกำหนดเวลาจับ

ระยะเวลา 1 ปี การเติบโตของปลาเฉลี่ยแล้ว ปลาสวายตัวละ 2 ก.ก. ปลาหมอ ขนาด 5-6 ก.ก. ปลาทับทิม ตัวละ 3-4 ตัว/ก.ก.

คุณภาพของปลาที่ได้จะเหมือนกับปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและได้ราคาดี เนื่องจากไร้กลิ่น สะอาด มันน้อย เมื่อคำนวนดูแล้วหากได้น้ำหนักโดยรวมประมาณ 1 ตัน ต่อ พื้นที่บ่อ 1 ไร่ ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราขั้นต่ำก็มีรายได้ไม่น้อยกว่า 60,000 บาท

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบที่มีค่าแก่เกษตรกรอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงและได้ผลผลิตดีอีกด้วย ท่านใดเลี้ยงปลาหรืออยากจะเริ่มเลี้ยงปลาลองเอาวิธีนี้ไปใช้ดูนะคะ

ข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรอำเภอสบปราบ, คุณมงคล ทวีสิน

Share the Post: